ชะตาชีวิตกำหนดให้เป็นสัตวแพทย์
..ผศ.น.สพ.เฉลิมพล เล็กเจริญสุข
ดังคำกล่าวที่ว่า ชีวิตเปรียบเสมือนสายน้ำที่แปรเปลี่ยนไปในทุกช่วงเวลา ชีวิตของอาจารย์เฉลิมพลก็มีจุดหันเหเข้ามาในทุกช่วงจังหวะของชีวิตเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่วิชาชีพสัตวแพทย์ การเปลี่ยนผันจากอาจารย์ทางด้านสัตว์ใหญ่มายังสัตว์เล็ก หรือแม้กระทั่งการได้เริ่มต้นก่อตั้งศูนย์ล้างไตผ่านทางช่องท้องในสัตว์เล็ก ณ โรงพยาบาลสัตว์สวนหลวงสัตวแพทย์ (SLV) ที่อาจารย์รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาอยู่ในปัจจุบัน
อาจารย์เล่าให้พวกเราฟังว่าชีวิตของอาจารย์แรกเริ่มเดิมทีไม่ได้มีความฝันในการเป็นสัตวแพทย์ แต่ด้วยโชคชะตาทำให้อาจารย์ได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาหาความรู้ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และถึงแม้ว่าจะเรียนจบด้วยผลการเรียนระดับดีเยี่ยม มีดีกรีคะแนนสอบเป็นถึงอันดับสามของรุ่น แต่อาจารย์ก็ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยตามที่หลายคนคาดคิด ในช่วงที่เรียนจบใหม่ ๆ อาจารย์อยากใช้ความรู้ และความสามารถของตนเพื่อประกอบอาชีพเป็นผู้แทนบริษัทเวชภัณฑ์ด้วยความตั้งใจที่อยากจะหาเงินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว อาจารย์ได้ยื่นใบสมัครไปกับหลายบริษัท
.
จนท้ายที่สุดก็ผ่านการสัมภาษณ์รอบแรกกับบริษัทแห่งหนึ่ง ในขณะเดียวกันนั้นเอง โชคชะตาก็ได้มอบเส้นทางให้อาจารย์ได้เลือกอีกครั้ง เมื่อคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เปิดรับสมัครตำแหน่งอาจารย์เพื่อเข้ามาสอนนิสิตนักศึกษาในตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ สัตว์ใหญ่ นี่เองจึงเป็นจุดเปลี่ยนของเส้นทางชีวิตที่อาจารย์จำเป็นต้องเลือก
“วันที่สัมภาษณ์ตำแหน่งอาจารย์ที่กำแพงแสน บังเอิญเป็นวันเดียวกับที่ผมมีสัมภาษณ์รอบสองของบริษัทเซลที่เพชรบุรีตัดใหม่พอดี วันนั้นผมต้องเลือกว่าจะไปที่ไหน สุดท้ายก็เลยเลือกสมัครมาเป็นอาจารย์ ด้วยเหตุผลส่วนตัวที่ว่า ความรู้สึกของเราตอนเรียนจบปี 6 เรารู้สึกว่าสัตวแพทย์ดูเป็นอาชีพที่ต้อยต่ำ ก็เลยตั้งใจว่าถ้าได้โอกาสมาเป็นอาจารย์ เราจะใช้ความรู้ ความสามารถมาช่วยยกระดับวิชาชีพให้ดีขึ้นมาทัดเทียมกับวิชาชีพอื่น ๆ ให้ได้”
.
หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น อาจารย์เฉลิมพลจึงเริ่มต้นชีวิตการเป็นอาจารย์สัตวแพทย์เรื่อยมา พูดคุยจนมาถึงตอนนี้เชื่อว่าหลายท่านอาจสงสัยว่า อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้อาจารย์เฉลิมพลเปลี่ยนเส้นทางชีวิตจากตำแหน่งอาจารย์ภาควิชาสัตว์ใหญ่ หันเหมาอยู่ในวงการสัตว์เล็กได้ อาจารย์เล่าให้พวกเราฟังว่า ด้วยความที่มีจุดเริ่มต้นเป็นอาจารย์สอนทางด้านสัตว์ใหญ่ และช่วงนั้นประเทศไทยมีการระบาดของโรคปากเท้าเปื่อย อาจารย์จึงอยากใช้โอกาสนี้ไปศึกษาต่อต่างประเทศในศาสตร์ที่ยังไม่ค่อยมีผู้รู้เพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาต่อยอด และกลับมาช่วยควบคุมการระบาดของโรคที่ประเทศไทย แต่ด้วยข้อจำกัดหลากหลายประการทำให้อาจารย์จำเป็นต้องเปลี่ยนหัวข้องานวิจัยอยู่บ่อยครั้ง
.
จนเมื่อปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยประสบกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ นักเรียนไทยในต่างประเทศไม่ได้รับทุนสำหรับอยู่อาศัย อาจารย์จึงจำเป็นต้องหางานเสริมเพื่อหารายได้ระหว่างเรียน ในจังหวะนั้นเองศูนย์วิจัยโรคนิ่วของมหาวิทยาลัยมินนิโซต้า (Minnesota Urolith Center) ได้เปิดรับนักศึกษาเข้าทำงานพิเศษ อาจารย์จึงได้สมัครเข้าไปทำงาน ระหว่างการทำงานอาจารย์พบว่าทางศูนย์มีข้อมูลเก็บรวบรวมไว้อยู่เป็นจำนวนมาก แต่กลับไม่มีกำลังคนมากพอที่จะหยิบข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ต่อไป นั่นเองจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทางศูนย์วิจัยทาบทามอาจารย์ให้มาทำวิจัยเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะในสัตว์เล็ก
“ที่นู่นเขาก็มีข้อมูลเยอะแยะเลยที่รวบรวมไว้ แต่ไม่มีคนนำมาใช้ ทางศูนย์วิจัยก็เลยทาบทามเรา ให้เรามาทำงานวิจัยในส่วนของนิ่วในสัตว์เล็ก จุดนี้ก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราได้เปลี่ยนการทำงานจากสัตว์ใหญ่มาเป็นสัตว์เล็กเหมือนอย่างทุกวันนี้” อาจารย์เล่าต่อไปว่า หลังจากได้ทำงานวิจัยเรื่องนิ่วในสัตว์เล็กแล้ว ระหว่างนั้นทาง Hill’s ได้มีโครงการวิจัยเรื่องอาหารประกอบการรักษาโรคไตทั้งในสุนัข และแมว ซึ่งอาจารย์ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยในเรื่องของการแปลผลข้อมูลทางสถิติ และการได้เข้ามาทำงานวิจัยเกี่ยวกับอาหารนี้เองที่ทำให้อาจารย์เริ่มสนใจในศาสตร์ของโภชนาการอาหารในสัตว์
.
“ที่ Minnesota มีสอน Small Animal Clinical Nutrition โดย Dr.Julie Churchill ให้กับนักศึกษาปริญญาตรีจำนวน 3 หน่วยกิต ผมก็เข้าไปนั่งเรียนกับเขา ไปหาความรู้เพิ่ม ตอนนั้นเองก็ทำให้รู้ว่าศาสตร์นี้เป็นศาสตร์ที่สัตวแพทย์ไทยเรายังขาด เราไม่เคยเรียน เราก็เลยสนใจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในด้านนี้ด้วย”
.
ด้วยเส้นทางชีวิตที่พัดพาไปนี่เองทำให้อาจารย์เฉลิมพลได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบาดวิทยา และระบบขับถ่ายปัสสาวะในสัตว์เล็ก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการก่อตั้งศูนย์ล้างไตในสัตว์ต่อไปในอนาคต
ศูนย์ฟอกไตสำหรับสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก
จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งศูนย์ล้างไตในสัตว์เล็ก
จากจุดเริ่มต้นของการเป็นอาจารย์ด้านสัตว์ใหญ่ สู่อาจารย์ทางด้านระบบขับถ่ายปัสสาวะในสัตว์เล็ก เส้นทางชีวิตเหล่านี้เองทำให้อาจารย์ได้รู้จักกับเทคโนโลยีการฟอกไตในสัตว์
.
“ช่วงแรกที่เริ่มเป็นอาจารย์ทางด้านระบบขับถ่ายปัสสาวะ เราก็อ่านเรื่องการฟอกไต และเราก็เกิดความสนใจ เผอิญช่วงที่อยู่ต่างประเทศ มหาวิทยาลัย UC Davis ได้มีการประชุมกลุ่มอาจารย์สัตวแพทย์ที่ศึกษาเกี่ยวกับระบบขับถ่ายปัสสาวะ ผมก็ไปดูการล้างไตที่นั่น พอได้เห็นแล้วเราก็คิดว่าเราจะต้องนำเทคโนโลยีนี้กลับมาใช้ที่ประเทศไทยให้ได้”
.
ถึงจะฟังดูเหมือนราบรื่น แต่ทุกความท้าทายย่อมมีปัญหาซ่อนอยู่ ปัญหาสำหรับเทคโนโลยีการฟอกไตในขณะนั้น คือค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง กำลังทรัพย์ของประชาชนที่นำสัตว์มารักษายังไม่สามารถจ่ายในส่วนนี้ได้ไหว ในช่วงแรกที่อาจารย์กลับมาจากต่างประเทศจึงยังคงไม่ได้เริ่มโครงการในทันที แต่โชคชะตาก็มอบโอกาสให้อีกครั้งเมื่อบริษัท MARS ได้เข้ามาช่วยเหลือในการให้ทุนซื้อเครื่องล้างไตเป็นเครื่องแรกให้ทีมงานได้ศึกษา
“ตอนนั้นก็ยุ่งยากพอสมควร เพราะเทคโนโลยีนี้ยังใหม่สำหรับเรา และเครื่องล้างไตเครื่องนั้นเป็นเครื่องที่ผลิตมาสำหรับมนุษย์ พอเรานำมาใช้ในสุนัขจึงพบปัญหาอยู่บ้าง” ทีมงานของอาจารย์ได้ใช้เครื่องล้างไตดังกล่าวในการศึกษาหาองค์ความรู้เพิ่มเติม จนวันหนึ่งทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รับทุนจากทางรัฐบาลเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการสัตวแพทย์ ทุนนี้ส่วนหนึ่งจึงถูกนำมาซื้อเครื่องฟอกไตสำหรับสัตว์ช่วยให้ทีมงานได้ศึกษาการฟอกไตในสัตว์ผ่านทางเส้นเลือดมากขึ้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเทคโนโลยีการฟอกไตในสัตว์ผ่านทางเส้นเลือดจึงได้ถูกนำมาใช้กับสัตว์ป่วยโรคไต แต่อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีการล้างไตผ่านทางเส้นเลือดก็ยังมีข้อจำกัดบางประการที่อาจทำให้สัตว์ป่วยบางกลุ่มไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้
.
“ข้อจำกัดของการฟอกไตผ่านทางเส้นเลือดในสัตว์โดยการใช้เครื่องมือสำหรับมนุษย์ก็คือ สุนัขต้องน้ำหนักเกิน 15 กิโลกรัม ดังนั้นพอเป็นแมว หรือสุนัขตัวเล็กก็จะไม่สามารถฟอกไตผ่านทางเส้นเลือดได้ ด้วยเหตุนี้เอง การฟอกไตผ่านทางหน้าท้องจึงเข้ามาเป็นตัวเลือกของการรักษา” เมื่อเกษียณอายุราชการจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์จึงนำองค์ความรู้การล้างไตผ่านทางหน้าท้องมาจัดตั้งศูนย์ล้างไตผ่านทางช่องท้องในสัตว์เล็ก ณ โรงพยาบาลสัตว์สวนหลวงสัตวแพทย์ (SLV) เพื่อให้สัตว์ป่วยที่มีข้อจำกัดสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น อาจารย์กล่าวต่อไปว่าจุดประสงค์ของการก่อตั้งศูนย์นี้คือการพาวงการวิชาชีพสัตวแพทย์ก้าวไปอีกระดับ เปิดโอกาสให้สัตว์ป่วยได้มีโอกาสรอดชีวิต และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
.
“ที่ผ่านมาเมื่อสุนัข และแมวไม่มีปัสสาวะ เราได้แต่ดูสัตว์เหล่านั้นตาย เพราะฉะนั้นถ้ามีศูนย์ล้างไตนี้ อย่างน้อยก็จะเป็นการให้โอกาส อย่างน้อยเราก็มีเครื่องมือที่เราสามารถช่วยพวกเขาได้อีกระดับหนึ่ง”
ความหวังของการล้างไตในสัตว์ป่วยโรคไตขนาดเล็ก
เพื่อตอบโจทย์การดูแลสัตว์ป่วยโรคไตในสัตว์ที่มีน้ำหนักตัวน้อย และมีความจำเป็นต้องล้างไต อาจารย์เฉลิมพล ร่วมกับ น.สพ.ธานินทร์ สันติวัฒนธรรม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสัตว์สวนหลวงสัตวแพทย์ (SLV) ได้จัดตั้งศูนย์ล้างไตผ่านทางช่องท้องในสัตว์เล็ก และกองทุนสำหรับการล้างไตในสัตว์ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพท์จำนวน 50 ทุน เพื่อมอบโอกาสในการช่วยเหลือ ต่อชีวิตให้สัตว์ป่วยเหล่านั้นได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คุณหมอท่านใดที่สนใจอยากส่งสัตว์ป่วยเข้ามารับการรักษาสามารถติดต่อมาได้ที่โรงพยาบาลสัตว์สวนหลวงสัตวแพทย์ (SLV) เพื่อรับการตรวจร่างกาย ดูความเหมาะสมของการล้างไตต่อไป
ก้าวต่อไปของศูนย์ล้างไตในสัตว์ที่อาจารย์เฉลิมพลวาดความหวังไว้ คือการมีศูนย์ล้างไตอย่างน้อย 5 แห่งกระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศไทยภายในสิ้นปี และมีศูนย์ล้างไตประจำอยู่ในทุก ๆ จังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง ต่อไปในอนาคต เพื่อมอบโอกาสในการรักษาสัตว์ป่วยให้กว้างขึ้น ในส่วนนี้เองทางโรงพยาบาลสัตว์สวนหลวงสัตวแพทย์ (SLV) พร้อมเผยแพร่องค์ความรู้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เทคโนโลยีการล้างไตในสัตว์แพร่หลายมากขึ้น ช่วยมอบโอกาสในการช่วยเหลือ เพื่อต่อชีวิตให้สัตว์ป่วยเหล่าได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป
.
“วิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลสัตว์สวนหลวงสัตวแพทย์ (SLV) คือ เราพร้อมแชร์ ดังคำกล่าวที่ว่า knowledge increases by sharing เราพร้อมแชร์ ไม่หวง มีอะไรเราเปิดหมด ให้หมด เราไม่มองว่าถ้าที่อื่นทำเหมือนกันแล้วเขาจะมาเป็นคู่แข่งเรา เรากลับมองว่าเขาจะมาเป็นพันธมิตรเราด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าใครสนใจเราพร้อมที่จะแชร์ให้”
ตราบที่ยังมีลมหายใจ
จะยังคงส่งต่อความรู้ไปอย่างต่อเนื่อง
เชื่อว่าใครต่อใครหลายคนเมื่อชีวิตดำเนินมาถึงวัยเกษียณ สิ่งที่คิดถึงเป็นอันดับแรกคงเป็นการหยุดพักผ่อน และเพลิดเพลินกับการผจญภัยใหม่ แต่ไม่ใช่กับอาจารย์เฉลิมพล อาจารย์เล่าให้เราฟังว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมา อาจารย์สนุกกับการทำงาน และมีความสุขกับการเผยแพร่องค์ความรู้ที่ตนมี อาจารย์มองว่าหากวันนี้อาจารย์หยุดสอน หยุดทำงาน องค์ความรู้ที่ตนมีจะหายไปตามกาลเวลา อาจารย์จึงตั้งปณิทานที่อยากจะถ่ายทอดความรู้ที่ตนมีเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับวิชาชีพสัตวแพทย์ต่อไป
.
“ถ้าความรู้อยู่กับเรา มันก็จะตายไปกับเรา และเราเองก็อุตส่าห์เรียนสะสมองค์ความรู้มามาก แถมองค์ความรู้เหล่านั้น ส่วนตัวก็มองว่าเป็นความรู้ส่วนที่วิชาชีพยังขาดทั้งนั้น ไม่ว่าระบาดวิทยา การวิเคราะห์ข้อมูล หรือโภชนาการอาหารสำหรับสัตว์ ดังนั้นเราก็อยากที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้สัตวแพทย์รุ่นใหม่ต่อไป” อาจารย์บอกกับเราว่าในปีหน้า อาจารย์ตั้งใจจะเปิดคอร์สสอนการวิเคราะห์ทางสถิติ และการปรุงอาหารสำหรับสัตว์ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ตามเจตนารมณ์ของตนที่ตั้งไว้
.
“ทำไปทำมา เรามีความสุขกับการสอน พอได้สอนแล้วเรามีความสุข และจะรู้สึกภูมิใจมากถ้าทำให้คนที่เขาไม่รู้ได้มีความรู้ขึ้นมา พอได้เห็นลูกศิษย์ดีขึ้น เห็นพวกเขาเป็นสัตวแพทย์ที่ดี เราทั้งในฐานะอาจารย์ และสัตวแพทย์ก็รู้สึกดีใจ เพราะพวกเขาเหล่านั้นก็จะช่วยให้วิชาชีพได้เดินต่อไปข้างหน้าได้อีก สมตามเจตนารมณ์ที่เรามาเป็นอาจารย์ด้วย”
No pain, no gain. Keep going, keep smiling.
ก่อนจะจากกันไป อาจารย์ได้ฝากคติเตือนใจแด่อนาคตของวงการสัตวแพทย์ไทย นั่นคือคำกล่าวที่ว่า No pain, no gain. และ Keep going, keep smiling.
.
“คำขวัญประจำตัวของผม คือ “No pain, no gain” และผมจะสอนนิสิตอยู่เสมอว่า “Keep going, keep smiling” เหตุผลก็คือผมเชื่อว่าการเป็นสัตวแพทย์ที่เก่ง นอกจากอ่านหนังสือแล้ว คุณต้องทำงานหนัก คุณต้องลองลงมือทำ และยอมรับความผิดพลาด ศึกษา และปรับปรุงจากความผิดพลาดของคุณ ทำตัวเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว คุณจะรับความรู้ได้แบบไม่มีขีดจำกัด เรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะความรู้ไม่เคยหยุดนิ่ง คุณต้องหมั่นอัพเดตความรู้ของคุณอยู่ตลอดเวลา
.
“นอกจากการเป็นสัตวแพทย์ที่เก่งแล้ว คุณต้องยอมรับความจริงที่ว่าการรักษาบางทีก็อาจไม่สำเร็จทั้ง 100% บางอย่างคุณช่วยเขาไม่ได้ ก็คือช่วยไม่ได้ ดังนั้นถ้าคุณช่วยเขาไม่ได้ หน้าที่ของคุณคือทำให้เขาจากไปอย่างมีความสุข สุดท้ายถึงคุณจะเครียดก็พยายามยิ้มออกมา เพราะการยิ้มจะช่วยแบ่งเบาความเครียดในใจคุณได้”
คัดจาก facebook: VPN Magazine
หากพูดถึงหนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิทางการสัตวแพทย์ เชื่อว่าไม่มีคุณหมอท่านใดไม่รู้จัก อาจารย์จุ๋ม – ผศ.น.สพ.ดร.เฉลิมพล เล็กเจริญสุข อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกสัตว์เลี้ยง คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ปัจจุบันอาจารย์ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสัตวแพทยสภา และผู้อำนวยการศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถขั้นพื้นฐานของการประกอบวิชาชีพสัตวแพทย์ ตลอดจนที่ปรึกษาฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม โรงพยาบาลสัตว์สวนหลวงสัตวแพทย์ (SLV) ซึ่งเป็นผู้จุดประกายความคิดในการก่อตั้งศูนย์ล้างไตผ่านทางช่องท้องในสัตว์เล็กเพื่อช่วยขยายโอกาสการรักษาให้สัตว์ป่วยโรคไตได้เข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง
Vpeople ฉบับนี้จะพาคุณหมอไปพูดคุยกับอาจารย์เฉลิมพลถึงจุดเริ่มต้นการเป็นสัตวแพทย์ และที่มาที่ไปของการก่อตั้งศูนย์ล้างไตสำหรับสัตว์ ณ โรงพยาบาลสัตว์สวนหลวงสัตวแพทย์ (SLV) ตลอดจนหลักการดำเนินชีวิตที่อาจารย์ยึดถือปฏิบัติเสมอมา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันวงการสัตวแพทย์ให้ดำเนินต่อไปในอนาคต
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ : https://www.readvpn.com/…/e36587af-360a-45d7-9c6c…
บทสัมภาษณ์โดย : น.สพ.อิทธิพงษ์ ขำทวี
ก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 กับความเชี่ยวชาญและบริการที่ครบวงจร
✔ ดีที่สุด…ด้วยสถานพยาบาลมาตรฐานระดับสากล ทั้ง ISO 9001:2015 และ TAHSA
✔ ดีที่สุด…ด้วยอุปกรณ์การแพทย์คุณภาพสูง ทันสมัยไม่มีตกยุค พร้อมมีห้องแลปในตัวโรงพยาบาล
.
👨🏻⚕️ รวมสิ่งที่ดีที่สุดไว้ในที่เดียว คือหัวใจสำคัญที่ทำให้เราครองใจผู้ใช้บริการมาอย่างยาวนาน
🚩 SLV Pet Hospital เปิดบริการ 24 ชั่วโมง
โรงพยาบาลสัตว์ครบวงจรคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ยาวนานกว่า 50 ปี
ยินดีและพร้อมให้คำปรึกษา ยกระดับคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงที่คุณรักให้ยืนยาว
.
☎️ ติดต่อ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
🔹 Tel : 02-866-0260 / 086-3725458 / 086-375-6398
🔹 Facebook : https://www.facebook.com/SLVPETHOSPITAL
🔹 Website : https://slv.co.th/